โครงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม (กิจการนักศึกษา) กิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์คณะวิทยาการจัดการ “การอภิปรายและสัมมนา หัวข้อ “สืบฮีต ต๋ามฮอย มากอยครัวบ่าเก่า”” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งความรู้ จารีตประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งช่วยให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณค่า และการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง
“ตานก๋วยสลาก” หรือที่ภาษาไทยภาคกลางเรียกว่า “สลากภัต” เป็นประเพณีเนื่องในพระพุทธศาสนาที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในภาคเหนือจะเรียกประเพณีต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น มีทั้ง ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก กิ๋นสลาก แต่ก็ล้วนหมายถึงประเพณีเดียวกัน แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม
ประเพณีตานก๋วยสลากมักทำกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านหยุดพักจากทำนา พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่ในวัดเพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา ผลไม้มากและกำลังสุก เช่นส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อย และยังเป็นช่วงที่ข้าวเปลือกหรือข้าวสารของใกล้หมดยุ้งฉาง จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมโดยมีความเชื่อว่าการตานก๋วยสลากนอกจากจะเป็นการทำบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับแล้วยังเป็นการทำทานสงเคราะห์แก่คนยากไร้ ซึ่งถือว่ามีกุศลแรง
1 วันก่อนวันตานก๋วยสลาก จะมีการจัดเตรียมข้าวของ เรียกว่า “วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” ชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ดอกไม้ ของใช้ มาจัดเตรียมใส่ “ก๋วย” ซึ่งเป็นตระกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายชะลอม จะรองก้นด้วยใบตองหรือกระดาษ หรือในปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นถังน้ำพลากสติกหรืออลูมิเนียม เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ โดยวันนี้จะมีญาติสนิทมิตรสหายจากต่างหมู่บ้านมาร่วมกันจัดก๋วย
ก๋วยสลากมีอยู่หลากหลายแบบหลายขนาด ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์และกำลังศรัทธาของแต่ละคน แบ่งออกเป็น 2 แบบกว้าง ๆ คือ ก๋วยน้อย กับ ก๋วยใหญ่ มีก๋วยพิเศษ เช่น ก๋วยย้อมหรือสลากย้อม เป็นของหญิงสาวทำขึ้นเชื่อว่าเมื่อถวายแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ในบางท้องที่โดยเฉพาะในกลุ่มไทยองก็จะมีข้าวของเครื่องใช้มากกว่าปกติ มีหวี กระจก แป้ง ผ้าเช็ดหน้า หรือของใช้ผู้หญิงอื่น ๆ และจะกางร่มไว้บนยอดสุด
ส่วนก๋วยโจ้ค (โจ้คหมายถึงโชค) เป็นก๋วยสลากขนาดใหญ่ อาจเป็นกระบะมีขาสูงแค่เอว หรือเป็นต้นสลากขนาดใหญ่สูงหลายเมตร มีต้นดอกหรือกิ่งไม้แขวนเครื่องใช้ต่าง ๆ หรืออาจเป็นกระบุงขนาดใหญ่มาก ปักด้วยต้นคาหรือหญ้าคาทำเป็นก้านยาวเพื่อแขวนสิ่งของต่าง ๆ หรือบางครั้งอาจทำเป็นบ้านขนาดย่อม ๆ หรือปราสาทแบบล้านนา นำข้าวของต่าง ๆ ใส่ในบ้าน โดยก๋วยโจ้คจะใส่ปัจจัยมากกว่าก๋วยชนิดอื่น ๆ และเชื่อว่ามีกุศลมาก
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นประเพณีล้านนาทางภาคเหนือ สืบเนื่องกันมารุ่นต่อรุ่น โดยประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า แบบโบราณล้านนา หรือการเลี้ยงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน (ทิศตะวันออก) หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น (คนโท) วางเอาไว้ โดยจะมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของผีปู่ย่า ให้มาสถิตอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลาน ตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ย่าวงศ์เดียวกัน
การเลี้ยงผีปู่ย่าโดยทั่วไปจะนิยมเลี้ยงในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน แต่ด้วยความไม่สะดวกที่ญาติพี่น้องอยู่ห่างไกลกัน นานวันจะหวนกลับบ้านในช่วงปีใหม่สงกรานต์ ก็อาจใช้ช่วงเวลานี้เลี้ยงผีก็ได้ หรือหากลำบากที่จะต้องเดินทางมาร่วมพิธีเลี้ยงผี ก็อาจขอแบ่งผีไปอยู่ในชุมชนใหม่ที่อยู่ไกลออกไป โดยการนำเอาขันหรือสลุงมาขอแบ่งผีจากเก๊าผีปู่ย่า (ต้นตระกูล) ซึ่งก็จะจัดพิธีเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวผีเก๊า จากนั้นผีเก๊าจะเป็นผู้นำเอาข้าวตอกดอกไม้มาใส่ขันไว้ และอวยพร/ให้พรแบ่งผีแก่สมาชิกไปจัดทำพิธีเอง ซึ่งเมื่อไปรับผีมาแล้วก็เอามาตั้งขันในหอผีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ถือเป็นสิริมงคคล ความอยู่เย็นเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานแก่เครือญาติ ขยายเป็นครอบครัวใหม่ออกไปไม่สิ้นสุด
ของที่นิยมนำมาเลี้ยงผีปู่ย่า แล้วแต่จะตกลงกันว่าปีนี้จะถวายไก่หรือหมู ถ้าถวายไก่ก็นำมาครอบครัวละ 1 ตัว (ไก่ต้ม) ถ้าถวายหมู จะใช้ส่วนหัวของหมู เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีในการทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ในเวลาเช้าตรู่ ประมาณ 8.00 น. ผู้สืบทอดหรือผู้อาวุโสจะกล่าวคำบูชา พร้อมกับญาติ ๆ ที่มาร่วมพิธี จากนั้นพนมมือไหว้อธิษฐาน รอจนกว่าธูปเทียนจะวอดดับหมดเล่ม ถือว่าผีปู่ย่าได้รับรู้และรับเครื่องไหว้แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ลูกหลานก็จะลาของไหว้ ได้แก่ ข้าวปลาอาหารแห้ง ผลไม้ ขนมต่าง ๆ เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และนำไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นภายในงานยังเป็นสถานที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสมาอยู่ใกล้กัน เด็ก ๆ ได้รู้จักสนิทสนมกันดีขึ้น ถือเป็นการขันเกลียวเครือญาติให้แน่นแฟ้น
Comments