โครงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม (กิจการนักศึกษา) กิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์คณะวิทยาการจัดการ “การอภิปรายและสัมมนา หัวข้อ “เยี่ยมเรือน เยือนวัดอย่างไรไม่ตกยุค”” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักศึกษาได้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แตกต่างจากในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณค่า และการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง
วัดพระธาตุลำปางหลวง
กู่พระเจ้าล้านทอง (ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท) ตั้งอยู่บริเวณท้ายวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 กู่นี้คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้ปกครองของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น องค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งลวดลายปั้นประดับมีอยู่อย่างมากมาย แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของงานประดับในช่วงเวลานั้นด้วย
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น
สิงห์ปูนปั้น ฐานชุกชี วิหารน้ำแต้ม
เป็นลวดลายปูนปั้นนูนสูง บริเวณตัวสิงห์ปั้นจนเกือบเป็นรูปปฏิมากรรมลอยตัว บนหลังสิงห์เป็นหม้อบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่บริเวณฐานชุกชีด้านหลังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ(แต่ในหนังสือพระเจดีย์ในล้านนา โดย สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กลับเรียกว่า เจดีย์แบบพุกามล้านนา เนื่องจากมีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกามนั่นเอง) ปิดทองจังโกทั่วทั้งองค์เจดีย์ รูปทรงหนักแน่น ไม่ชลูดเหมือนเจดีย์แห่งอื่นๆ รอบๆพระธาตุมีการล้อมรอบด้วยรั้วเหล็ก โคมรั้ว มีการสร้างซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุ บริเวณรั้วเหล็กมีเรื่องเล่าถึง รอยกระสุนปืน ที่หนานทิพย์ช้างยิงปืนสังหาร ท้าวมหายศ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 23
ปรากฏในตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่กล่าวถึง การเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้า ที่บ้านลัมภะการีวัน(บ้านลำปางหลวง) เมื่อเสด็จอยู่ดอยม่อนน้อย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่ง นาม"ลัวะอ้ายกอน" เห็นพระพุทธเจ้า เกิดมีความเลื่อมใสได้นำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง(ไม้ช้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ 4 ลูกน้อมถวายพระองค์ และพระองค์ก็มอบพระเกษาและได้มีพุทธพยากรณ์ต่อไปว่า ในอนาคต จะมีพระอรหันต์นำเอาอัฐิพระนลาต(หน้าผาก)ข้างขวา และอัฐิลำคอข้างหน้าหลังมาบรรจุไว้ในนี้
โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
รายละเอียด
เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุออกมาเป็นรูปทรงสามมิติ เพื่อให้เห็นแนวคิดของจักรวาลคติสมบูรณ์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปสู่มิติที่สูงขึ้นไปสู่สวรรค์วิมาน และพระนิพพาน หรือเป็นซุ้ม "สุวรรณคูหากู่คำ" อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากการตรัสรู้ โคมรั้วนี้ประดับอยู่รายรอบ พระธาตุลำปางหลวง มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน
Commentaires